Online:

Visited:

 
 
 
เทศกาล งาน ประเพณี
 
ความสำคัญ

                   ประเพณีของจังหวัดสมุทรสงคราม ส่วนใหญ่จะคล้ายกับประเพณีประจำทางภาคกลาง ดังในพระราชหัตถเลขาฉบับที่ ๔ เรื่อง "เมืองสมุทรสงครามของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว"ว่า "เมืองสมุทรสงครามนี้ ท่วงทีภูมิฐานเหมือนอย่างกรุงเทพฯ ฝั่งตะวันตกแถบคลองบางใหญ่ บางคูเวียง มีทางที่จะเที่ยวซอกแซกได้มาก ถ้าจะลงเรือเล็กไปเที่ยวจะไปได้หลายวัน คนในพื้นเมืองมีความนับถือเจ้านายและไว้ตัวเป็นที่สนิทสนมทั่วไป" 
                    ดังนั้นไม่ว่าจะเป็นด้านความเป็นอยู่ วัฒนธรรม ขนบประเพณี ของจังหวัดสมุทรสงครามก็คล้ายคลึงกับประเพณีภาคกลางอื่นๆ อาทิเช่น พิธีแต่งงาน ขึ้นบ้านใหม่ บวชนาค โกนจุก พิธีศพ และงานในวันสำคัญทางศาสนา 

                  สำหรับประเพณีประจำปีนั้น จังหวัดสมุทรสงครามมีประเพณีที่สำคัญอยู่หลายอย่างเช่น ประเพณีสงกรานต์ ประเพณีถวายสลากภัตต์ ประเพณีแห่เทียนประจำพรรษา ประเพณีตักบาตรเทโว ทำบุญสารทไทย ประเพณีชักพระ ประเพณีการลอยกระทง
                    นอกจากนี้ยังมีประเพณีอื่นๆ ที่เป็นประเพณีเกี่ยวกับพระพุทธศาสนา เช่น ทำบุญตักบาตรในวันขึ้นปีใหม่ ในวันธรรมสวนะและวันสำคัญทางศาสนา เช่น วันมาฆบูชา วันวิสาขบูชา ประเพณีนมัสการรอยพระบาทตามที่วัดต่างๆ ที่มีรอยพระบาทจำลอง ประเพณีทอดกฐิน ทอดผ้าป่า เป็นต้น

พิธีกรรม
ประเพณีที่มีลักษณะเฉพาะของจังหวัดสมุทรสงคราม มีดังนี้

๑. ประเพณีนมัสการและสรงน้ำหลวงพ่อบ้านแหลม (วัดเพชรสมุทรวรวิหาร) กระทำการสักการะบูชา ดังนี้
เดือน ๓ วันขึ้น ๑ ค่ำ (วันชิวอิ้ด) มีชาวจีนไปทำการนมัสการปิดทองสรงน้ำกันอย่างหนาแน่น
เดือน ๔ กลางเดือน คือ วันตรุษไทย
เดือน ๕ วันสงกรานต์ มีการสรงน้ำพระพุทธรูปหลวงพ่อบ้านแหลม ๓ วัน วันที่ ๔ มีการเวียนเทียนสมโภช มีมหรสพฉลองเป็นการใหญ่ตลอดทั้ง ๗ วัน
เดือน ๑๐ วันขึ้น ๒ ค่ำ เทศกาลสารทไทย
เดือน ๑๑ วันแรม ๒ ค่ำ ชาวจีนและชาวบ้านบางนกแขวก อำเภอบางคนที และชาวบ้านอำเภออัมพวา ไปนมัสการสรงน้ำหลวงพ่อ ๑ วัน
เดือน ๑๒ วันแรม ๗ ค่ำ วันชักพระมีการสรงน้ำหลวงพ่อบ้านแหลมเป็นพิเศษ อีกครั้งหนึ่ง

๒. ประเพณีชักพระของจังหวัดสมุทรสงคราม 
                      ประเพณีชักพระเริ่มตั้งแต่วันแรม ๑ ค่ำ เดือน ๑๒ จนถึงสิ้นเดือน ๑๒ ประเพณีแต่เดิม ในงานจะมีเรือแห่กระบวนพระพุทธรูปที่ศักดิ์สิทธิ์ที่สุดในจังหวัดไปตามแม่ น้ำแล้วกลับมาที่วัด อัญเชิญพระพุทธรูปไว้บนพลับพลาหรือศาลาหน้าวัด รุ่งขึ้นมีการบำเพ็ญกุศลถวายผ้าป่าแด่พระในวัดแล้วมีการแข่งเรือ เรือที่เข้าแข่งมีรูปร่างต่าง ๆ กัน เช่น หัวท้ายลำปั้น มาดยาว เบ็ดยาว มีฝีพายนั่งประจำลำละหลายๆ คนสุดแล้วแต่เรือนั้นจะยาวมากหรือยาวน้อย บางลำฝีพายนั่งประจำเป็นคู่ ๆ นอกจากคนท้ายและหัวเรือเท่านั้นที่นั่งเดี่ยว ต่างแต่งกายด้วยเสื้อผ้าสีสดต่าง ๆ กัน บางลำชายล้วน บางลำหญิงล้วน บางลำก็ปนกัน เรือที่แข่งต้องจัดให้คนได้จำนวนพอกัน แข่งกันเป็นคู่ ๆ ทีละคู่ และลำชนะจะต้องชิงธงเหลืองที่ปักไว้บนทุ่นหลักชัยได้ก่อน คนดูจะเห็นคนเรือคอยจ้องจะคว้าธงชัยไปตั้งแต่ไกล พอหัวเรือใกล้ทุ่นคนเรือจะกระโจนเข้าคว้าธงทันที ทางวัดจะจัดหารางวัลไว้ให้ ถ้ามีรางวัลมากก็ให้หมดทั้งลำชนะและลำแพ้ ของรางวัลก็มี สบู่ แป้ง น้ำมัน ผ้าเช็ดหน้า ขันน้ำพานรอง ขนม ผลไม้ เป็นต้น

                  ปัจจุบันการแห่อัญเชิญพระพุทธรูปไปทางน้ำไม่สะดวกเท่าที่ควร เนื่องจากเส้นทางการคมนาคมเปลี่ยนไป ถนนหนทางเจริญขึ้นและมีมาก จึงสะดวกกว่าที่จะแห่ไปทางน้ำ บางวัดนิยมชักพระมาไว้ที่ศาลาหน้าวัดหรือที่พลับพลาเลย แล้วให้ประชาชนที่เลื่อมใสไปปิดทองสรงน้ำพระทำบุญตามศรัทธา บางวัดก็อัญเชิญพระพุทธรูปที่ศักดิ์สิทธิ์ในวัดของตนขึ้นไปประดิษฐานบนรถ บรรทุกเล็ก ที่ประดับรถอย่างสวยงาม มีกระถางธูป กระถางน้ำมนต์ไปพร้อมเสร็จ แล้วแล่นช้าๆ หยุดให้ประชาชนได้สรงน้ำปิดทองพระพุทธรูปอย่างทั่วถึงกัน อาทิ หลวงพ่อแก่นจันทน์วัดป้อมแก้ว และหลวงพ่อแก่นจันทน์วัดใหญ่ เป็นต้น บางวัดที่อยู่ไกลจากตัวเมืองก็ยังนิยมแห่ไปทางน้ำตามแบบเดิม ส่วนการแข่งเรือก็ยังเหลืออยู่เป็นประเพณีไม่กี่วัด เช่น วัดพวงมาลัย วัดปทุมคณาวาส วัดปากง่าม วัดมอญ วัดบางจะเกร็ง วัดปากสมุทร วัดบางลี่ เป็นต้น แต่เรือแข่งแบบเดิมดูเหมือนจะทำกันพอเป็นพิธีเท่านั้น การแข่งเรือที่สนุกสนานมากในปัจจุบันกลายเป็นเรือเครื่องประเภทเรือหางยาว เล็กแบบสองตอน เรือแข่งเครื่องขายหมู และแข่งกันเป็นรายบุคคล เป็นที่สนุกสนานมาก นอกจากนี้ในบางวัดยังมีการแข่งขันแปลกๆ อีก คือ ใช้กะทะเคี่ยวน้ำตาลแล้วให้คนนั่งแจวแบบแจวเรือแข่งกันว่าใครจะชนะ เป็นต้น

                  ที่น่าสังเกตอีกอย่างหนึ่งคือ ประเพณีชักพระของวัดเพชรสมุทรวรวิหาร ในปัจจุบัน ไม่ได้เอาพระพุทธรูปหลวงพ่อบ้านแหลมองค์จริงออกมาให้ประชาชนได้สรงน้ำหรือ ปิดทอง ยังคงประดิษฐานอยู่ในโบสถ์ ผู้ใดต้องการจะสรงน้ำปิดทองก็ต้องเข้าไปที่โบสถ์ แต่กลับมีการแห่พระพุทธรูปหลวงพ่อบ้านแหลมองค์จำลองและพระพุทธรูปปั้นมหา สิทธิการ (ทอง)อดีตเจ้าอาวาสแทน และนิยมแห่กันเป็นประเพณีประมาณวันที่ ๑๗ เมษายน มีริ้วขบวนและการแสดงของชาวบ้านอย่างสวยงาม พร้อมกับมีการเล่นสาดน้ำของชาวบ้านควบคู่กันไป
กำหนดเวลาการชักพระพอรวบรวมได้ดังนี้

แรม ๑ ค่ำ วัดกลางเหนือ อำเภอบางคนที แรม ๒ ค่ำ วัดไทร อำเภอบางคนที แรม ๓ ค่ำ วัดบางลี่ อำเภออัมพวา แรม ๔ ค่ำ วัดสวนหลวง แรม ๕ ค่ำ วัดพวงมาลัย แรม ๖ ค่ำ วัดใหญ่ แรม ๗ ค่ำ วัดเพชรสมุทรวรวิหาร แรม ๘ ค่ำ วัดประทุมคณาวาส แรม ๙ ค่ำ วัดปากสมุทร แรม ๑๐ ค่ำ วัดบางจะเกร็ง แรม ๑๑ ค่ำ วัดมอญ แล้วย้อนขึ้นมาตามลำดับวัดในลำคลองแม่กลองจนถึงแรม ๑๕ ค่ำ เดือน ๑๒

๓. ประเพณีนมัสการรอยพระบาทจำลอง
เริ่มประมาณกลางเดือน ๓ นมัสการที่วัดต่างๆ ที่มีรอยพระพุทธบาทจำลอง เช่น วัดใหญ่ วัดบางกะพ้อม วัดปากน้ำ วัดบางน้อย เป็นต้น โดยเฉพาะที่วัดปากน้ำมีเป็นประจำทุกปี

๔. ประเพณีวันสงกรานต์
มีทำบุญตักบาตร ปล่อยนก ปล่อยปลา และนิยมทำขนมแจกเพื่อนบ้านและญาติมิตร ขนมที่นิยมทำคือ ข้าวเหนียวแดง กะละแม ข้าวเหนียวมะม่วง เป็นต้น และมีการละเล่นพื้นบ้านที่สนุกสนานต่างๆ เช่น สะบ้า ประกวดว่าว ชักกะเย่อ ตะกร้อลอดบ่วง ไต่เสาน้ำมัน (ใช้เสาไม้กลมทาน้ำมันให้ลื่นแล้วข้างบนวางสิ่งของ เช่น เงิน เป็นต้น หากผู้ใดปีนได้เก่งก็ได้รางวัลไป) ดำน้ำเป่าน้ำออกจากขวด (ผู้เล่นต้องถือขวดบรรจุน้ำเต็มดำลงไปในน้ำ แล้วเทน้ำออกจากขวดให้หมด เมื่อโผล่จากน้ำต้องชูขวดเปล่าขึ้นมา ใครโผล่ขึ้นมาก่อนก็ชนะ) นอกจากนี้ยังมีการเล่นช่วงรำตี (คล้ายมอญซ่อนผ้า) เป็นต้น
๕. ประเพณีวันตรุษ
มีทำบุญตักบาตร แล้วนำโกศบรรจุอัฐิบรรพบุรุษใส่ถาดไปบังสุกุล หลังจากทำบุญแล้ว

๖. ประเพณีวันสารท
มีทำบุญตักบาตร สรงน้ำพระ และแจกขนมเพื่อนบ้าน ญาติมิตร เช่น กะละแม กระยาสารท กล้วยไข่ กล้วยหอม

๗. ประเพณีวันลอยกระทง
มีลักษณะคล้ายกับจังหวัดอื่นๆ ต่างกันที่นอกจากมีการลอยกระทงสวยงามแล้ว ชาวบ้านยังนิยมเอาหยวกกล้วยมาหั่นเป็นท่อนยาวลอกเป็นกาบ แล้วทำรอยหยักที่ริมทั้งสองข้างของกาบกล้วย เอาธูปจุ่มน้ำมันยางปักไว้กลางกระทง แล้วใส่กระจาดไปลอยแพสวยงามมาก เพราะกระทงลอยไปด้วยกันเป็นแถว

ปัจจุบันประเพณีบางอย่างได้ลดน้อยลงไป เช่น ประเพณีชักพระ
 
 
 
 
 
 
 
FONTSIZE
 

 

 

สงวนลิขสิทธิ์ © 2557  สำนักงานตรวจบัญชีสหกรณ์สมุทรสงคราม
เลขที่ 11/55 ถ.เอกชัย ต.แม่กลอง อ.เมืองฯ จ.สมุทรสงคราม 75000